ในยุคปัจจุบัน อุตสาหกรรม 4.0 มีการแข่งขันที่รุนแรง จึงส่งผลให้อุตสาหกรรมต่างๆ หันมาใช้งาน RPA และเริ่มใช้งานระบบอัตโนมัติในกระบวนการผลิตมากยิ่งขึ้น ซึ่ง Robotic Process Automation (RPA) เป็นซอฟต์แวร์ที่ทำงานแทนมนุษย์ในระบบอัตโนมัติ ถือเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่ไม่เพียงแค่อำนวยความสะดวกในการทำงานของแผนกไอทีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการทำงานของกระบวนการผลิตในยุคดิจิทัลอีกด้วย
สำหรับในประเทศไทย รัฐบาลส่งเสริมการใช้งาน RPA ทั้งในสายการผลิตและอุตสาหกรรมบริการ อีกทั้งในสถานการณ์ปัจจุบันยังมีการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลอย่างรวดเร็วอีกด้วย ในบทความนี้ จึงขอแนะนำตัวอย่างการใช้งาน RPA ที่ประสบความสำเร็จในสายการผลิต ซึ่งเราหวังว่าจะช่วยให้คุณค้นพบและเข้าใจถึงปัญหาและงานที่สามารถใช้ RPA มาแก้ไขปัญหาในองค์กรหรือที่ทำงานของคุณ
ในการจัดทำแผนการผลิต จะต้องดึงข้อมูลจากระบบภายในต่างๆ เช่น ระบบการขาย ระบบการจัดการสินค้าคงคลัง แล้วป้อนแผนการผลิตรายวันพร้อมกับพิจารณาการวางแผนบุคลากร การวางแผนด้านต้นทุนและการจัดซื้อวัสดุ หลังจากนั้นจะส่งอีเมลไปยังบุคคลที่เกี่ยวข้อง งานเหล่านี้สามารถทำให้เป็นอัตโนมัติได้โดยใช้ RPA พนักงานเพียงแค่ตรวจสอบผลลัพธ์ที่จัดทำขึ้นเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงประหยัดเวลาแต่ยังมั่นใจได้ในความถูกต้องของข้อมูล ทำให้สามารถสร้างแผนการผลิตได้ดีขึ้น
การจัดการรายการส่วนประกอบ (BOM) มีความสำคัญอย่างมากในอุตสาหกรรมการผลิต เมื่อพนักงานป้อนข้อมูลวัตถุดิบแต่ละชนิดด้วยมือ หากเกิดข้อผิดพลาดในการป้อนข้อมูลแม้เพียงเล็กน้อยก็อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตและกระบวนการของผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป เมื่อนำ RPA มาใช้จัดการ BOM โดยอัตโนมัติ จะทำให้แบ่งปัน Drawing และทำการเปลี่ยนแปลงวัสดุในโรงงานและกระบวนการผลิตได้ง่ายขึ้น จึงสร้าง BOM ที่แม่นยำได้ในระยะเวลาอันสั้น ส่งผลให้สามารถป้องกันการสั่งวัตถุดิบที่ไม่ถูกต้องและผลิตชิ้นงานตามแผนได้อย่างแม่นยำ
ปกติพนักงานจะตรวจสอบใบสั่งซื้อที่ได้รับจากคู่ค้าทางอีเมลด้วยสายตาและป้อนข้อมูลลงในระบบการสั่งซื้อ RPA เหมาะสำหรับงานที่ต้องทำซ้ำๆ เช่นนี้ โดยหุ่นยนต์จะดาวน์โหลดข้อมูลใบสั่งซื้อจากอีเมลอัตโนมัติ คัดลอกเนื้อหาและโพสต์ไปยังระบบการสั่งซื้อ ช่วยลดข้อผิดพลาดในการป้อนข้อมูลของพนักงาน และสามารถจัดสรรทรัพยากรบุคคลไปทำงานอื่นๆ ที่หุ่นยนต์ไม่สามารถจัดการได้ ทำให้ปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมได้
ในการตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ จำเป็นจะต้องบันทึกผลลงในแบบฟอร์มการตรวจสอบคุณภาพแล้วจึงป้อนข้อมูลลงในระบบ อย่างไรก็ตาม กระบวนการตรวจสอบแบบอะนาล็อกนี้ไม่เพียงแต่ใช้เวลานานเท่านั้น ยังมีแนวโน้มที่จะเกิดข้อผิดพลาดในการป้อนข้อมูลอีกด้วย การนำ RPA เข้ามาใช้ สามารถแปลงผลการตรวจสอบให้เป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยอ่านข้อมูลที่บันทึกบนกระดาษด้วย AI-OCR แล้วบันทึกลงในระบบโดยอัตโนมัติ ผู้รับผิดชอบเพียงแค่ตรวจสอบผลอีกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีข้อผิดพลาด
การจัดการสินค้าคงคลังของวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ถือเป็นงานสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งหากวัตถุดิบไม่เพียงพออาจส่งผลต่อกระบวนการผลิตและทำให้การจัดส่งล่าช้าได้ หากนำ RPA มาใช้จะช่วยให้การจัดการสินค้าคงคลังทำได้โดยอัตโนมัติ เมื่อได้รับใบส่งมอบสินค้าจากคู่ค้าทางอีเมล RPA จะหักลบจำนวนที่ระบุไว้ในใบส่งมอบออกจากจำนวนสินค้าในระบบโดยอัตโนมัติ และคำนวณยอดคงเหลือของสินค้าคงคลัง พร้อมทั้งบันทึกในระบบการจัดการสินค้าคงคลังให้อัตโนมัติ จึงไม่จำเป็นต้องมีคนคอยตรวจสอบและปรับจำนวนสินค้าคงคลังเองทุกครั้ง อีกทั้งยังรู้จำนวนสินค้าคงคลังได้อย่างแม่นยำแบบเรียลไทม์
ในอุตสาหกรรมการผลิต มีความจำเป็นต้องรวบรวมใบแจ้งหนี้และผลการจัดส่งสินค้าทำเป็นรายงานทุกสิ้นเดือนและส่งให้กับผู้บริหาร โดยปกติพนักงานจะตรวจสอบข้อมูลการสั่งซื้อและข้อมูลการจัดส่งสินค้าจากแต่ละระบบภายในโรงงาน แล้วป้อนข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบรายงาน รวมถึงคำนวณราคาและจำนวนด้วยตนเอง ซึ่งหากมีลูกค้าจำนวนมากก็จะยิ่งส่งผลให้ต้องใช้เวลาในการทำรายงาน และอาจเกิดข้อผิดพลาดในการป้อนข้อมูลและการคำนวณได้
การใช้ RPA ทำให้สามารถรับข้อมูลการสั่งซื้อและข้อมูลการจัดส่งจากแต่ละระบบได้อย่างอัตโนมัติ และสามารถแสดงข้อมูลในรูปแบบรายงานพร้อมทั้งคำนวณข้อมูลโดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ ยังสามารถแนบรายงานกับอีเมลให้อัตโนมัติและส่งไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องได้ กระบวนการดำเนินงานทั้งหมดสามารถทำให้เป็นระบบอัตโนมัติได้โดยใช้ RPA จึงช่วยลดชั่วโมงการทำงานและป้องกันข้อผิดพลาดของมนุษย์ได้
ทั้งหมดนี้ คือ ตัวอย่างการนำ RPA มาใช้ในกระบวนการและกรณีต่างๆ สำหรับโรงงานและอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งทุกท่านอาจจะเคยพบปัญหาในการทำงานที่ใกล้เคียงกับตัวอย่างเหล่านี้มาก่อน
บริษัท iCONEXT ของเรามีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาระบบแบบ Scratch สำหรับอุตสาหกรรมการผลิต เราได้พัฒนาซอฟต์แวร์หุ่นยนต์ (RPA) ตามความต้องการของลูกค้าและลักษณะเฉพาะของโรงงาน
เราพร้อมให้การสนับสนุนการนำ RPA มาใช้ เพื่อทำให้กระบวนการทั้งหมดเป็นอัตโนมัติ ตั้งแต่การวางแผนการผลิตไปจนถึงการส่งมอบสินค้า ทำให้การทำงานในโรงงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังช่วยพัฒนาประสิทธิผลได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย