Reiko จะบอกว่า .... มีอะไรเกิดขึ้นในประเทศไทย
สวัสดีค่ะ พบกับคอลัมน์เล่าเรื่องเมืองไทย โดย Reiko นะคะ ในครั้งแรกของคอลัมน์นี้
จะขอเปิดด้วยประเด็นยอดฮิตในตอนนี้ก็คือ การแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธ์ใหม่ หรือ
COVID-19 นั่นเอง ซึ่งมีคนญี่ปุ่นส่วนมากตั้งคำถามกับสถานการณ์นี้ในประเทศไทยว่า ...
“สถานการณ์ไวรัสในตอนนี้ที่เมืองไทยเป็นอย่างไรบ้าง ดูเหมือนว่าคนไทยจะตื่นตัวและดูป้องกันตัว เพื่อรับมือมากกว่าคนญี่ปุ่นด้วยซ้ำ เพราะมีข่าวว่าชาวญี่ปุ่นบางส่วนก็ยังออกเดินทางไปทำกิจกรรมนอกบ้าน เช่น ดูซากุระ จนทำให้ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น”
ณ ตอนที่เขียนคอลัมน์นี้ คือ ช่วงปลายเดือนเมษายน 2563 เป็นช่วงที่หลายจังหวัดยังคงปิดเมือง ปิดห้างร้านและบริการ อาทิ โรงภาพยนตร์, ร้านทำผม, สถาบันเสริมความงาม ร้านอาหาร ที่งดการนั่งรับประทานที่ร้าน โดยจัดให้มีบริการซื้อกลับบ้านเท่านั้น อีกทั้งยังมีมาตรการเคอร์ฟิวห้ามออกจากเคหะสถาน ในช่วงเวลา 22:00-04:00 น. เพื่อลดการแพร่กระจายของไวรัสที่มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งงดการจัดเทศกาลสงกรานต์ พร้อมทั้งหลายบริษัทก็มีนโยบาย work from home เพื่อให้พนักงานลดการเดินทาง หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกัน ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นนโยบายที่ได้ผลทีเดียว เพราะสามารถลดการเดินทางได้อย่างชัดเจน
หากมองย้อนกลับไปเมื่อเดือนมกราคม 2563 ปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในเมืองไทย ต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงฤดูหนาวปี 2562 ซึ่งวิธีการดูแลสุขภาพในช่วงที่มีฝุ่น PM2.5 คือการใส่หน้ากากอนามัย แต่ช่วงนั้นเปอร์เซ็นต์คนไทยที่สวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะยังไม่มีให้เห็นมากเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับตอนนี้ที่ทุกคน “จำเป็นต้อง” สวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ แต่ไม่ว่าจะด้วยความจำเป็นที่ทำให้ต้องสวมหน้ากากอนามัย เนื่องจากมีกฎที่ว่าหากไม่สวมหน้ากากอนามัยแล้วจะไม่สามารถเข้าพื้นที่่สาธารณะได้ หรือจะใส่หน้ากากอนามัยเพราะความรักสุขภาพของตนเอง แต่ก็ทำให้เห็นได้ชัดว่า “คนไทยกลัว COVID-19 มากกว่า PM2.5” อาจเพราะมองผลกระทบที่เกิดจากฝุ่นเข้าร่างกายไม่ร้ายแรงเท่าการติดไวรัสก็เป็นได้ ถึงแม้ขณะนี้ภาคเหนือของเมืองไทยยังคงมีปัญหาไฟป่าและฝุ่น PM2.5 อยู่อย่างต่อเนื่อง แต่กลับไม่เป็นข่าวใหญ่สักเท่าไหร่ น่าจะเพราะคนส่วนใหญ่สนใจไวรัสที่เป็นปัญหาระดับโลกมากกว่า
ส่วนตัวคิดว่า เหตุผลที่คนไทยกลัวไวรัสตัวนี้มากๆ อาจเพราะ 1.ยังไม่มีวัคซีนที่สามารถรักษาได้ 2.ถ้าเป็นแล้วจะทรมานและส่งผลเสียกับสุขภาพอย่างรุนแรง 3.ต้องแยกกักตัว ไม่สามารถอยู่ร่วมกับครอบครัวหรือคนรักได้ 4.กังวลเรื่องค่าใช้จ่าย เพราะถึงแม้จะมีข่าวออกมาว่าคนที่ติด COVID-19 สามารถรักษาได้ฟรี แต่กว่าจะถึงขั้นตอนนั้นก็ต้องมีเงินเพื่อสำรองออกเองไปก่อน รวมไปถึงค่าตรวจหาเชื้อไวรัสที่ค่อนข้างสูง ถึงแม้จะมีเงินมากพอก็ไม่สามารถรับประกันว่าจะได้รับการตรวจ เพราะด้วยกฎที่ว่า ต้องมีอาการป่วยเสียก่อนจึงจะสามารถเข้ารับการตรวจหาเชื้อได้
ขอย้อนกลับไปที่คำถามของคนญี่ปุ่นที่ถามว่าทำไมคนไทยถึงตื่นตัวกับไวรัสมาก เหตุผลที่กล่าวมาก่อนหน้านี้น่าจะเป็นคำตอบสำหรับคนไทยที่เป็นชนชั้นกลางขึ้นไป ซึ่งมีเงินเก็บหมุนเวียน สามารถนำมาใช้เพื่อดูแลตัวเองในช่วงที่เศรษฐกิจหยุดชะงักแบบนี้ได้ แต่ถ้าเป็นกลุ่มคนใช้แรงงาน ไม่มีเงินเก็บ หรือมีเงินไม่เพียงพอต่อการรักษาพยาบาล คำตอบก็อาจจะเป็นอีกแบบ เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีความสุขกับการได้กักตัวอยู่บ้าน เลี้ยงสัตว์ ดู Netflix คุยกับเพื่อผ่าน Zoom ได้เป็นระยะเวลานานๆ
ซึ่งเป็นความจริงที่ต้องยอมรับว่า ตั้งแต่มีข่าวการแพร่ระบาดของ COVID-19 และมีการปิดเมืองเพื่อลดการแพร่ระบาด ,ข่าวคนฆ่าตัวตาย, โจรปล้น, คนไม่มีข้าวกิน มีให้เห็นแทบทุกวัน ซึ่งเห็นได้ชัดว่ากลุ่มคนพวกนี้กลัวอดตายพอๆกับกลัวไวรัส หรืออาจจะกลัวอดตายมากกว่าไวรัสซะอีก ดังนั้นเราขอบอก คนญี่ปุ่นว่า “คนไทยกลัวไวรัสก็จริง แต่ก็มีบางส่วนที่กลัวอดตายไม่แพ้กัน” ค่ะ
ทั้งนี้คนไทยก็รู้จักเรื่องของการปรับตัว ถึงแม้หน้ากากอนามัยจะขาดตลาดก็ตัดเย็บหน้ากากผ้าออกมาขาย จนตอนนี้หน้ากากผ้ากลายเป็นแฟชั่นที่ทุกคนต้องมีไปแล้ว รวมถึงเจลล้างมือ สเปรย์แอลกอฮอล์ก็มีบริษัทที่แต่เดิมผลิตอย่างอื่นก็หันมาเปลี่ยนไลน์การผลิตทำเจลล้างมือออกขาย จนตอนนี้เพียงพอต่อความต้องการแล้ว
ณ ตอนนี้ ทำได้เพียงรอดูว่าสถานการณ์จะดีขึ้นหรือเลวร้ายกว่าเดิม จึงใคร่ขอให้ผู้อ่านทุกท่านร่วมส่งกำลังใจให้ทั้งไทย ญี่ปุ่น และทุกประเทศทั่วโลก รอดวิกฤตินี้ไปได้ด้วยกันนะคะ และอย่าลืมมีวินัย ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการไปในพื้นที่แออัด และหากเป็นไปได้ก็พยายาม Stay Home ให้มากที่สุด ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพดี แล้วพบกันในคอลัมน์ต่อไปนะคะ
Tel: +662-8216919