เมื่อเร็วๆ นี้ มีรายงานจากการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) หรือบอร์ด EEC ชุดเล็กว่า
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เสนอร่างแผนสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พ.ศ. 2561-2564 ให้กับที่ประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนที่จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ด EEC ชุดใหญ่) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อพิจารณาอนุมัติกรอบวงเงิน 13,572 ล้านบาท และแผนในวันที่ 23 มกราคม 2563
ทั้งนี้ ผลการศึกษาสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในพื้นที่ EEC พบว่าใน 3 จังหวัด (ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-ระยอง) เป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมหลักของประเทศ มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมและความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติตามมา โดยคุณภาพอากาศมีการตรวจพบ ก๊าซโอโซน (O3), ฝุ่นขนาดเล็ก (PM10), สารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs), คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก-ลำคลองสาขาเสื่อมโทรมลง, มีน้ำเสียจากชุมชนระบายลงสู่แม่น้ำลำคลองส่งผลต่อคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่ง ปัจจุบันมีโรงงานตั้งอยู่ในพื้นที่รวม 9,000 แห่ง มีการผลิตของเสียอุตสาหกรรมประมาณปีละ 5.1 ล้านตัน
ในจำนวนนี้สามารถกำจัดได้เพียงร้อยละ 49 พบการลักลอบทิ้งของเสียอุตสาหกรรมตามที่สาธารณะต่างๆ โดยคาดการณ์ว่าในปี 2580 จะมีปริมาณขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า จากปัจจุบันหรือวันละ 8,600 ตัน มีขยะสะสมเพิ่มขึ้นเป็น 4 ล้านตัน จำนวนประชากรมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตัว หรือจาก 3.51 ล้านคน ในปัจจุบันเป็น 6.9 ล้านคน ในปี 2580
นอกจากนี้ในพื้นที่ EEC ยังมีจำนวนโครงการที่ต้องจัดทำ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) กับรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) และรายงานวิเคราะห์ผลกระทบต่อสุขภาพ (EHIA) เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นชัดว่ายังมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจในพื้นที่นี้ต่อเนื่อง จึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงกลไกและเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้ง EIA IEE และ EHIA เพื่อลดความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศที่เปราะบางของพื้นที่
Tel: +662-8216919