ปัจจุบันปัญหาขยะพลาสติกถือว่าเป็นหนึ่งในมลพิษทางสิ่งแวดล้อมอันดับต้นๆ โดยทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา ได้เผยตัวเลขการสำรวจปริมาณขยะทะเลทั่วโลก พบว่าประเทศไทยติดอันดับประเทศผู้ปล่อยขยะลงสู่ทะเลมากที่สุด จัดอยู่ในอันดับที่ 6 จาก 192 ประเทศ นอกจากนี้ยังพบอีกว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ มีการใช้ถุงพลาสติกเฉลี่ย คนละ 8 ใบต่อวัน ทำให้มีขยะพลาสติกมากถึง 80 ล้านใบต่อวัน
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลกได้ให้ความสำคัญกับการใช้ถุงพลาสติกมากขึ้น ซึ่งได้มีการวาง มาตรการลดละเลิกพลาสติกอย่างจริงจัง ล่าสุด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินมาตรการลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยจะห้ามใช้กล่องโฟมและถุงพลาสติกชนิด Oxo-degradable โดยเด็ดขาด แต่จะมีการอนุญาตให้ใช้เพียง 3 ประเภท คือ 1.ถุงกระดาษ 2.ถุงพลาสติกที่ย่อยสลายได้ตามมาตรฐานการย่อยสลายเป็นปุ๋ย (Compostable) 3.ถุงที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล 100% และจะงดการให้ถุงพลาสติกฟรี โดยเปลี่ยนเป็นการเก็บเงิน 1-2 บาท ยกเว้นสำหรับถุงพลาสติกบรรจุอาหารร้อนพร้อมทานเท่านั้น
ขณะเดียวกัน แก้วน้ำในโรงอาหารจะเปลี่ยนจากแก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เป็นแก้วที่สามารถนำไปล้างและใช้ซ้ำได้ หรือใช้แก้ว Zero Waste Cup ซึ่งเป็นแก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ภายใน 4-6 เดือน รวมถึงลดการแจกช้อนส้อมหรือหลอดพลาสติก และอนุญาตให้ต่อเมื่อมีการร้องขอเท่านั้น โดยมาตรการลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งนี้ มีผลบังคับใช้ในเขตพื้นที่การศึกษา ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 2562 เป็นต้นไป และในส่วนของพื้นที่เชิงพาณิชย์จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 พ.ย. 2562 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ทางมหาวิทยาลัยมีเป้าหมายในการเป็นเขตปลอดภาชนะโฟม รวมทั้งถุงพลาสติกชนิด Oxo-degradable ที่แตกตัวเป็นไมโครพลาสติกเร็วขึ้น รวมถึงการเลิกใช้แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในโรงอาหารให้ได้ 100% ลดการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งทุกร้านค้าในเขตการเรียนการสอนให้ได้ 80% และลดปริมาณหลอดและช้อนพลาสติกลงให้ได้ไม่ต่ำกว่า 20% หากลดขยะพลาสติกเหล่านี้ลงได้ จะลดขยะพลาสติกได้ไม่น้อยกว่า 8 ล้านชิ้นต่อปี หรือเทียบเท่าการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ไม่น้อยกว่า 900 ตันเลยทีเดียว