บริษัท TAKAMATSU MACHINERY (THAILAND) ผู้ผลิตเครื่องกลึง CNC ที่มีความแม่นยำสูง ซึ่งทางบริษัทได้สร้างฐานธุรกิจในประเทศไทยเมื่อปี 2546 ภายหลังจากที่ผ่านทศวรรษที่ 21 มาได้ไม่นานก็ได้เริ่มมองหาแหล่งตลาดใหม่ ๆ อาทิ ตลาดผู้ผลิตชิ้นส่วนและตลาดผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น เป็นต้น โดย 20 ปีต่อมา บริษัท TAKAMATSU MACHINERY (THAILAND) ได้สร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่งในตลาดประเทศไทยและได้ทำการเปิดสาขาที่อีสเทิร์นซีบอร์ด จังหวัดระยอง
สำหรับในบทความนี้ ได้รับเกียรติจากคุณทาคามัตสึ คิโยชิ ประธานกรรมการสำนักงานใหญ่และคุณยามาชิตะ เออิจิ Managing Director ประจำสาขาประเทศไทยที่จะเล่าเรื่องราวในอดีตที่ผ่านมาและพูดถึงแผนการดำเนินในอนาคตของบริษัท
ความสำคัญของบริการซ่อมบำรุงในประเทศไทย
▲ คุณทาคามัตสึ คิโยชิ ประธานกรรมการสำนักงานใหญ่ บริษัท TAKAMATSU MACHINERY
ประธานทาคามัตสึ : ในช่วงต้นปี 2543 เป็นช่วงที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่นวางแผนที่จะขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ โดยใช้ห่วงโซ่อุปทานของผู้ผลิต ซึ่งที่ประเทศไทยนั้นมีความต้องการในการซื้อรถกระบะเป็นจำนวนมาก จึงทำให้รู้สึกว่าเป็นตลาดที่น่าลงทุนและมีโอกาสเติบโตได้ในอนาคต อีกทั้งความคิดของลูกค้าที่ว่า “อยากใช้เครื่องมือ เครื่องจักร ที่ใช้ในญี่ปุ่นที่ไทยจัง” จึงทำให้ความคาดหวังที่มีต่อเราในฐานะที่เป็นผู้ผลิตเครื่องมือกลนั้นสูงมาก
อย่างไรก็ตาม หากขยายตลาดเข้าสู่ประเทศตามกระแสภายใต้ความคิดที่ว่า ทุกอย่างจะราบรื่นนั้น คงไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นไปได้ง่าย เพราะการจัดหาสินค้าเครื่องจักรในท้องถิ่นเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง แต่สำหรับลูกค้าสิ่งที่สำคัญกว่า คือ การที่สินค้ายังสามารถใช้งานได้ปกติและใช้งานได้นานที่สุด ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดที่พวกเราต้องการ คือ ความมั่นใจที่ว่า อุปกรณ์จะได้รับการซ่อมบำรุงเป็นอย่างดีในประเทศไทย
เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2538 บริษัทได้จัดตั้งสำนักงานตัวแทนในประเทศไทยและในเดือนสิงหาคม ปี 2546 ได้ก่อตั้งบริษัทในเครือนาม TAKAMATSU MACHINERY (THAILAND) CO., LTD.
ผมไม่มีวันลืมคำพูดที่ลูกค้าพูดกับผมเมื่อตอนที่ผมเดินทางมาทำงานที่ไทยได้เลย พวกเขาพูดว่า “การซื้อเครื่องจักรไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่ถ้า TAKAMATSU MACHINERY ไม่อยู่แล้ว พวกเราจะทำยังไง” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผมก็พูดซ้ำ ๆ ว่าเราจำเป็นต้องสร้างรากฐานบริษัทในประเทศไทย ซึ่งตลอด 20 ปีที่อยู่กับลูกค้ามาผมมีความรู้สึกว่าในที่สุดผมก็ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า
ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าด้วยการปรับปรุงบริการวิศวกรรมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
▲ คุณยามาชิตะ เออิจิ MD TAKAMATSU MACHINERY (THAILAND) CO., LTD.
MD ยามาชิตะ: เมื่อเดือนเมษายน ปี 2560 ผมได้รับแต่งตั้งให้เป็น MD รุ่นที่ 4 ของสาขาประเทศไทย ซึ่งตอนนั้น ตลาดในประเทศไทยกำลังเติบโตและ TAKAMATSU MACHINERY (THAILAND) ก็ทำยอดขายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่ปี 2560 ถึง 2561 ต่อมาในปี 2562 เศรษฐกิจไทยก็ได้เข้าสู่ช่วงซบเซา ซึ่งทางเราก็ยังหวังไว้ว่าธุรกิจจะดำเนินไปได้ด้วยดีแต่ตลาดประเทศไทยมีความแตกต่างจากญี่ปุ่นตรงที่ได้รับผลกระทบที่ทับซ้อนจากปัจจัยต่างๆ เช่น สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและสถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งมีบางวันที่ผมกังวลและคิดว่าจะทำความเข้าใจกับผลกระทบต่างๆ อย่างไรดี
จากนั้นตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2563 ก็เกิดการแพร่ระบาดของ Covid-19 ซึ่งไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมยานยนต์เท่านั้นที่ซบเซาลงอย่างกะทันหัน ถึงแม้ว่าในตอนนั้นจะตะโกนออกมาว่า “มาสร้างสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2560 และ 2561 อีกครั้งกันเถอะ” ก็ไร้ความหมาย พวกเราจึงกลับไปยึดหลักแนวคิดแรกเริ่มที่ว่า “แค่การขายเครื่องจักรอย่างเดียวไม่เพียงพอ”
ในส่วนของเทคโนโลยี เราได้ปรับปรุงให้ดีขึ้นจนทำให้ประสิทธิภาพและความสามารถของผลิตภัณฑ์ต่างๆ มีความคล้ายคลึงกัน และเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด เราจึงได้คิดและพิจารณาอย่างถี่ถ้วนว่าจะปรับปรุงคุณภาพการซ่อมบำรุงและตรวจสอบสินค้า หรืออีกนัยหนึ่ง คือ เพิ่มความสามารถด้านวิศวกรรมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตลอดจนให้บริการด้วยใจและเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล โดยในช่วงการแพร่ระบาดของ Covid-19 พวกเรามุ่งเน้นและพยายามในการเสริมสร้างความสามารถด้านวิศวกรรมให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า
บริษัทในไทยที่บริหารโดยคนไทย
ประธานกรรมการทาคามัตสึ : เป็นช่วงเวลา 20 ปีของบริษัทที่มีทั้งช่วงขาขึ้นและขาลงเช่นเดียวกับเศรษฐกิจ แต่พนักงานคนไทยจำนวนมากก็ยังคอยให้การสนับสนุนอย่างดีมาโดยตลอด แต่ด้วยอุปสรรคด้านภาษา จึงทำให้ช่วงแรกๆ เต็มไปด้วยความกังวลตลอดเวลาว่าจะสื่อสารอย่างไรดี แต่ด้วยความพยายามของพนักงานคนไทยซึ่งทำให้ผมรู้สึกประทับใจมากที่ได้รู้ว่าพวกเขาแอบไปศึกษาเรื่องที่มันยากๆ ของการซ่อมบำรุงเครื่องจักรหรือศึกษาค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อนำมาใช้ในการทำงาน
โดยในช่วงนี้เราได้เตรียมความพร้อมในเรื่องระบบฝึกอบรมให้กับพนักงานและการสร้างระบบต่าง ๆ เพราะหากเทคโนโลยีตกอยู่กับคนเพียงไม่กี่คนก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร ดังนั้น การถ่ายทอดความรู้แก่คนรุ่นหลังจึงถือเป็นสิ่งสำคัญเพื่อที่จะสามารถให้บริการแบบเดิมได้แม้เวลาจะผ่านไปก็ตาม
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายที่ใหญ่สุดของผม คือ การสร้างบริษัทในไทยที่บริหารและดำเนินการโดยคนไทยได้ แม้ว่าคนญี่ปุ่นจะไม่อยู่ก็ตามและแน่นอนว่าคนไทยจะได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นจากการฝึกอบรมที่ประเทศญี่ปุ่นด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าการที่จะได้การยอมรับจากสังคมไทยมากขึ้นนั้นก็ต้องให้คนไทยเป็นผู้บริหาร